ไวรัสโคโรนา หรือ โควิด – 19 ยังคงเป็นโรคทางเดินหายใจที่น่ากลัว และนับวันจะยิ่งรุนแรงขึ้น จากสถานการณ์การแพร่ระบาด จำนวนผู้ป่วยที่ติดเชื้อและผู้ป่วยที่เสียชีวิต ส่งผลให้ทางการแพทย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งหามาตรการรับมืออย่างเร่งด่วน เพื่อระงับการระบาดของเชื้อโรคไม่ให้กระจายและสร้างความเสียหายต่อโลกมากไปกว่าปัจจุบัน
ภาวะความเสี่ยงในการติดต่อของไวรัสโควิด – 19 อันเป็นต้นเหตุสำคัญของอาการปอดอักเสบอย่างรุนแรง และสามารถติดต่อกันได้หลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นจากคนสู่คนโดยการสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรงจากสารคัดหลังต่างๆ เช่น น้ำมูก น้ำลาย เสมหะ หรือแม้กระทั้งการได้รับเชื้อที่กระจายอยู่ในอากาศผ่านระบบทางเดินหายใจ ตา จมูก ปาก ใกล้บริเวณจุดที่ผู้ป่วยอยู่ก็ตาม ทำให้นวัตกรรมหุ่นยนต์เพื่อใช้ในการดูแลผู้ป่วยไวรัส โคโรนา ถือกำเนิดขึ้นเพื่อลดอัตราความเสี่ยงของบุคลากรทางการแพทย์ในการสัมผัสและดูแลผู้ป่วย แต่ยังคงให้การรักษาและเฝ้าระวังอาการของผู้ที่ติดเชื้อได้อย่างใกล้ชิด โดยนวัตกรรมนี้ถูกนำมาใช้กับผู้ป่วยรายแรกของประเทศสหรัฐอเมริกา ในรัฐวอชิงตัน ที่ Providence Regional Medical Center หลังจาก CNN นำเสนอข่าวว่าเชื้อโควิด – 19 สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้และระบบป้องกันในปัจจุบันยังไม่มีความปลอดภัยเพียงพอ จึงทำให้โรงพยาบาลตัดสินใจให้ ‘INTOUCH VICI’ หุ่นยนต์ผู้ช่วยทางการแพทย์ทำงานแทน จึงเป็นเหมือนต้นแบบหุ่นยนต์ช่วยดูแลผู้ป่วยไวรัสโคโรนาของสหรัฐอเมริกา
หุ่นยนต์ ‘INTOUCH VICI’ได้รับการพัฒนาโดย INTOUCH HEALTH เพื่อทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยไวรัสโคโรนา แทนเจ้าหน้าทางการแพทย์ เป็นนวัตกรรมหุ่นยนต์ที่ได้รับการพัฒนาให้ใช้งานได้ง่าย และสะดวก สามารถปรับขนาดได้ตามต้องการ ติดตั้งอุปกรณ์กล้องความละเอียดสูงถึง 36 เท่าพร้อมหน้าจอแสดงที่มีคุณภาพสูง สามารถซูมเข้า-ออกได้ เพื่อส่องวินิจฉัยผู้ป่วยได้อย่างละเอียด ทำให้แพทย์ พยาบาล สามาถติดตามอาการและรักษาผู้ป่วยได้อย่างละเอียด แทนการเข้าถึงตัวผู้ป่วย ที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสได้ ตลอดจนญาติของผู้ป่วยสามารถติดต่อและพูดคุยกับผู้ป่วยได้ ผ่านระบบการบังคับหุ่นยนต์ จอแสดงภาพ และเสียง เพื่อสร้างกำลังใจและลดอาการวิตกกังวลต่อโรคของผู้ป่วยในระหว่างการถูกจำกัดพื้นที่เพื่อรับการรักษาได้อีกทางหนึ่ง
ผู้อำนวยการด้านการติดเชื้อ จาก Providence St. Joseph Health จอร์จ ดีแอซ กล่าวว่า ‘INTOUCH VICI’ หุ่นยนต์ที่ทำหน้าที่ปฏิบัติการทางการแพทย์ตัวนี้ นอกจากช่วยทำหน้าที่วินิจฉัยขั้นพื้นฐานได้ดีแล้ว ยังช่วยให้การติดต่อสื่อสารระหว่างผู้ป่วยและแพทย์เป็นไปอย่างราบรื่น เป็นวิธีช่วยลดความเสี่ยงในการสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรงได้ โดยทั่วไปหุ่นยนต์ Vici จะถูกนำมาใช้ในกรณีที่มีการติดต่อกับคนไข้แทนหมอที่อาจอยู่ห่างไกลกัน เพื่อการตรวจวินิจฉัยที่ทันท่วงที แต่ในครั้งนี้ เรานำมาใช้เพื่อป้องกันความปลอดภัยให้แก่บุคลากรของเรา นับว่าการใช้นวัตกรรมหุ่นยนต์ผู้ช่วยทางการแพทย์ในกรณีนี้ เป็นการนำเอาเทคโนโลยี Telemedicine หรือการรักษาทางไกลมาใช้ได้อย่างตรงจุด ระงับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสและลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ด้วย
สำหรับประเทศไทย มีการพัฒนานวัตกรรมหุ่นยนต์ช่วยดูแลผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโคโรน่าขึ้นเช่นกัน โดยจะเริ่มใช้เป็นครั้งแรกใน 3 โรงพยาบาลหลัก คือ โรงพยาบาลบำราศนราดูร โรงพยาบาลราชวิถีและโรงพยาบาลโรคทรวงอก โดยหุ่นยนต์ TELEMEDICINE ROBOTS ทั้ง 3 ตัว จะมีคุณสมบัติช่วยประเมิน ดูแลและฟื้นฟูผู้ป่วยติดเชื้อโควิด – 19 ซึ่งนับว่าเป็นนวัตกรรมทางการแพทย์รูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นโดย ศ.ดร.วิบูลย์ แสงวีระพันธุ์ศิริ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีหลักการทำงานคล้ายคลึงกับเจ้า ‘INTOUCH VICI’ ผู้ช่วยทางการแพทย์เชื้อสายอเมริกา โดยพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์สามารถบังคับเจ้าหุ่นยนต์ดูแลผู้ป่วยตัวนี้ ให้ปฏิสัมพันธ์กับผู้ป่วยแทนตนในระยะห่างเพื่อลดภาวะเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้